โรงพยาบาลมหาสารคาม ร่วมกิจกรรม“แสงนำใจ ไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 8 เฉลิมพระเกียรติ จ.มหาสารคาม

(30-10-2565 )  ที่บริเวณแก่งเลิงจาน ตำบลแก่งเลิงจาน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม นายแพทย์ประเสริฐ  ศรีสารคาม  รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์  พร้อมด้วยบุคลากร เ ข้าร่วมงาน “แสงนำใจ ไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 8 เฉลิมพระเกียรติ  “แผ่นดินไทย ไร้สโตรค”

โดยมีนายเกียรติศักดิ์  ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธี นำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรโครงการโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ได้กำหนดจัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 21-30 ตุลาคม 2565 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ที่ทรงเป็นดั่งแสงนำใจของคนไทยทั้งชาติ ทรงเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนชาวไทยในการรักษาสุขภาพ ส่งเสริมกิจกรรมออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพดีห่างไกลโรค ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย การรักษาและลดภาระของปัญหาโรคเรื้อรัง โดยให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย และทุกหมู่คณะ มีโอกาสออกกำลังกายอย่างง่ายๆ  เช่น การเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน โดยรายได้จากการจำหน่ายชุดแข่งขัน และการบริจาคหลังหักค่าใช้จ่าย ร้อยละ 50 มอบให้แก่มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เพื่อใช้ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งทั่วประเทศ ดูแลสุขภาพประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารได้อย่างเท่าเทียมกัน และร้อยละ 50 มอบให้เขตสุขภาพและจังหวัดในพื้นที่ที่ร่วมโครงการแสงนำไทยทั้งชาติ ฯ เพื่อนำเงินเข้ากองทุน/มูลนิธิเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง

สำหรับกิจกรรมภายในงาน “แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาตครั้งที่ 8 เฉลิมพระเกียรติ” จังหวัดมหาสารคาม ประกอบด้วย 1.)การเดิน วิ่ง ปั่น (Overall) ชาย/หญิง ระยะทาง 10.4 กิโลเมตร (รอบแก่งเลิงจาน) 2.การเดิน วิ่ง ปั่น (Fun Run) ระยะทาง 5.4 กิโลเมตร

ดร.นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า จากรายงานการศึกษาโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พบว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตจาก โรคหลอดเลือดและหัวใจทั่วโลกประมาณ 16.7 ล้านคนต่อปี ในจานวนนี้เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง ประมาณ 5.5 ล้านคน โดยกว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยโรคนี้เกิดในประเทศกำลังพัฒนา ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 1,880 คน ต่อประชากรจำนวนหนึ่งแสนคน หรือร้อยละ 2 ซึ่งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในเพศหญิงและอันดับสามในเพศชาย รองจากอุบัติเหตุและ โรคมะเร็ง นอกจากนั้น โรคนี้ยังมีอัตราความพิการสูง การศึกษาในประเทศไทยพบว่า ในผู้ป่วย 100 คน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะเสียชีวิตร้อยละ 5 และพิการร้อยละ 70 ซึ่งนอกจากความพิการทางกายแล้ว ยังมีผลทำให้ความจำเสื่อมในภายหลังอีกด้วย ถ้าประชาชนขาดความรู้ด้านการป้องกันหรือรักษาอย่างถูกวิธี โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ร้อยละ 90 ถ้าสามารถปรับพฤติกรรมเสี่ยงความเสี่ยงได้

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ ขับเคลื่อนโครงการฯผ่านเขตสุขภาพ 13 แห่ง ทั่วประเทศ ในการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ กิจกรรมให้ความรู้โรคหลอดเลือดสมอง และกิจกรรม ออกกำลังกายเดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ในทุก 77 จังหวัด ทั้งประเทศที่มาร่วมจัดงานพร้อมกัน เพื่อเป็นการตอกย้ำความสำคัญของการออกกำลังกายในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

 

 

 

จ.มหาสารคาม จัดกิจกรรมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ และกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมอง

วันนี้(25 ตุลาคม 2565)เวลา 09.00น. ที่อาคารอายุรกรรม ชั้น 1 โรงพยาบาลมหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์  ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดกิจกรรมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการแสงนำใจไทยทั้งชาติ  เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 8  เฉลิมพระเกียรติ “แผ่นดินไทย ไร้สโตรค” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นดั่งแสงนำใจของคนไทยทั้งชาติ ทรงเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนชาวไทยในการรักษาสุขภาพ และการออกกำลังกาย โดยมีนายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมด้วย บุคลากรทางการแพทย์ องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนจังหวัดมหาสารคาม เข้าร่วม

สำหรับการจัดกิจกรรมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมอง จะจัดขึ้นบริเวณชั้น 1 อาคารอายุรกรรม ไปจนถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2565 และจะย้ายสถานที่ไปจัดบริเวณสันแก่งเลิงจาน ร่วมกับกิจกรรมออกกำลังกายเดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ในวันที่ 30  ตุลาคม 2565

นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับสอง และการพิการเป็นอันดับสามทั่วโลก จากการสำรวจประชากรขององค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลก พบว่า ปี 2563 มีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น ถึง 14.5 ล้านคนต่อปี 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป  ปี 2562 ประเทศไทย มีผู้ป่วย Stroke จำนวน 355,671 ราย (อัตราผู้ป่วย 543 ต่อประชากรแสนคน) มีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวน 34,728 ราย (อัตราตาย 53 ต่อประชากรแสนคน) ในปี 2563-2565 จังหวัดมหาสารคาม พบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เฉลี่ยจำนวนประมาณ 2,700 รายต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น โรคหลอดเลือดสมองนอกจากเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและพิการแล้ว ยังมีผลทำให้ความจำเสื่อมในระยะต่อมา ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนห่างไกลจากโรคหลอดเลือดสมอง จึงขอเชิญมาร่วมกันออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ โดยขอเชิญชวนประชาชนจังหวัดมหาสารคาม  ร่วมโครงการแสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 8 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในวันที่ 30 ต.ค. 2565 ตั้งแต่เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณสันแก่งเลิงจาน ตำบลแก่งเลิงจาน อำเภอเมืองมหาสารคาม

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และกลุ่มงานอายุรกรรม รพ.มหาสารคาม จัดการประชุมวิชาการสัญจร ครั้งที่ 35

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และกลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลมหาสารคาม จัดการประชุมวิชาการสัญจร ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม พ.ศ. 2565 โดยเป็นการประชุม onsite ณ โรงพยาบาลมหาสารคาม
ที่ห้องประชุมตักสิลา ชั้น 4 อาคารผู้ป่วยนอก นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวต้อนรับ พลโท รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชัย ประยูรวิวัฒน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ และรองประธานคณะกรรมการมูลนิธิอายุรศาสตร์ไทย คณะแพทย์ พยาบาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เนื่องในโอกาสเดินทางมาประชุมการประชุมวิชาการสัญจร ครั้งที่ 35 ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ณ โรงพยาบาลมหาสารคาม
ในโอกาสนี้ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มอบของที่ระลึกและมอบหน้ากากทางการแพทย์ N95 รวม 3,000 ชิ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของโรงพยาบาล โดยได้รับเกียรติจากนายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นผู้รับมอบ
การประชุมในครั้งนี้มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมประชุม 231 คน ได้รับความอนุเคราะห์จากวิทยากรส่วนกลางจากราชวิทยาลัยฯ และส่วนภูมิภาค ทั้งหมด 21 คน การประชุมประกอบด้วยการบรรยาย 25 เรื่อง หัวข้อการบรรยายครอบคลุมปัญหาที่พบในเวชปฏิบัติทั่วไป และตลอดการประชุมทั้ง 3 วัน ยังมีรายการ Luncheon symposium อีกวันละ 1 เรื่องโดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเวชภัณฑ์ที่ร่วมสนับสนุนกิจกรรม และจัดนิทรรศการบูธในการประชุมครั้งนี้อย่างคับคั่ง

โรงพยาบาลมหาสารคาม ร่วมกับ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต “พยาบาลไทยบริจาคโลหิต ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ 90 วัน 9,999 ยูนิต”

(19-10-2565) ที่ชั้น 1 อาคารอุบัติเหตุ และฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาสารคาม  นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นประธานเปิดกิจกรรมบริจาคโลหิต “พยาบาลไทยบริจาคโลหิต ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ 90 วัน 9,999 ยูนิต” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล  เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและวันพยาบาลแห่งชาติ 21 ตุลาคม 2565  โดยมีนางพรศรี ตรงศิริ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม  พร้อมด้วยคณะกรรมการและสมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดฯ  และคณะบุคลากรโรงพยาบาลมหาสารคาม ร่วมให้บริการรับบริจาคโลหิต และมอบใบประกาศเกียรติคุณจากสภาการพยาบาล แก่ผู้มีจิตอันเป็นกุศลบริจาคโลหิต กว่า 130 คน    ซึ่งในวันนี้ยังมีนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม  เดินทางมาร่วมบริจาคโลหิตอีกด้วย

 

เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม จ.มหาสารคาม จัดงาน“สัปดาห์เภสัชกรรม” ประจำปี 2565

กลุ่มงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลมหาสารคาม จัดกิจกรรม “สัปดาห์เภสัชกรรม” ประจำปี 2565 โดยจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “รวมพลังเภสัชกร ร่วมสร้างโลกสุขภาวะ” และได้รับเกียรติจาก แพทย์หญิงจรัญญา จุฬารี  รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ   โรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน  ณ บริเวณลานหน้าห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอก

ทั้งนี้ การจัดงาน“สัปดาห์เภสัชกรรม” ประจำปี 2565 เป็นความร่วมมือของเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมในจังหวัดมหาสารคาม ได้แก่ กลุ่มงานเภสัชกรรม กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มงานการแพทย์แผนไทย งานเภสัชกรรมแผนไทย โรงพยาบาลมหาสารคาม คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร้านยามหาวิทยาลัย โรงงานเภสัชกรรม ฟาร์มแคร์ ฟามาซูติคอล

ภายในงานมีกิจกรรมบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา การให้คำปรึกษาเรื่องการรับประทานยา บริการแนะแนวทางการเลิกบุหรี่  แนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ยาแพทย์แผนไทย ซึ่งผลิตจากโรงงานสมุนไพรจัมปาศรี ซึ่งได้รับมาตรฐานความปลอดภัยและเป็นยาที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรพื้นที่ของจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งการจัดกิจกรรมมีผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และผู้รับบริการของโรงพยาบาล สนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

ด้าน แพทย์หญิงจรัญญา จุฬารี  รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ   โรงพยาบาลมหาสารคาม  เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่าปัญหาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาและผลข้างเคียงของยา ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยอย่างมากหลาย เกิดจากหลายปัจจัยที่ทำให้ไม่ได้รับการดูแลเรื่องการใช้ยาอย่างถูกต้อง อาทิ การที่ผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังหลายชนิดทำให้ได้รับยาหลายรายการ ซึ่งทำให้มีการบริหารยา อาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เช่น รับประทานยาไม่ครบตามแพทย์สั่ง ซึ่งส่งผลต่อการประสิทธิภาพของการรักษา อีกทั้ง เกิดการใช้ยาโดยไม่ได้ทราบถึงข้อห้ามใช้ หรือข้อบ่งใช้ของยาที่ได้รับในขณะนั้นทำให้เกิดผลข้างเคียงจากใช้ยาได้ เภสัชกรที่เป็นผู้ที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเรื่องยาโดยตรง จึงมีหน้าที่ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ การให้คำปรึกษา เพื่อสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง ช่วยให้ใช้ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆได้อย่างถูกต้องและสมเหตุสมผล และเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาอย่างปลอดภัย

สำหรับการดำเนินกิจกรรมในวันนี้  มุ่งเน้นให้ประชาชนผู้มารับบริการ ณ โรงพยาบาลมหาสารคาม ใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และปลอดภัย และอีกทั้งเป็นการเสริมสร้างบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนด้านการใช้ยาอีกด้วย

 

รพ.มหาสารคาม ร่วมต้อนรับคณะศึกษาดูงานจาก รพ.นครพนม ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานด้านการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน

ที่ห้องประชุมตักสิลาชั้น 4 อาคารผู้ป่วยนอก นายแพทย์สถาพร ณ ราชสีมา รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ โรงพยาบาลมหาสารคาม  พร้อมด้วยบุคลากร ร่วมต้อนรับคณะบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลนครพนม ที่ได้เดินทางมาศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลมหาสารคาม ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 จำนวน 11 คน นำโดยคุณทิพย์วิภา  สังอินทร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หอผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลนครพนม เพื่อเตรียมความพร้อมถ่ายโอนภารกิจศูนย์รับแจ้งเหตุและประสานงานการแพทย์ฉุกเฉินสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประชาชนในพื้นที่ (23-9-2565)

 

 

 

รพ.มหาสารคาม ร่วมโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ และออกหน่วยแพทย์ พอ.สว.

รพ.มหาสารคาม ร่วมโครงการปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ และหน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน (จังหวัดเคลื่อนที่) และออกหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) บริการประชาชนในพื้นที่ อำเภอวาปีปทุม

(21 ก.ย. 65)  ที่ บริเวณโรงเรียนบ้านโพธิ์สองห้องวิทยา ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม นายแพทย์ภาคภูมิ  มโนสิทธิศักดิ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม  นายแพทย์ประเสริฐ  ศรีสารคาม รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมคณะบุคลากร ร่วมโครงการปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ และหน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน (จังหวัดเคลื่อนที่) และออกหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) บริการประชาชนในพื้นที่ อำเภอวาปีปทุม โดยมีนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิด

โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมมอบทุนอุปการะเด็กจากกองทุนพัฒนาเด็กชนบท ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มอบอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ มอบพันธุ์ปลาจากสำนักงานประมงจังหวัดให้แก่ตัวแทนราษฎร และมอบถุงยังชีพจากสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม

จากนั้น นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) โดยจัดกิจกรรม ให้บริการประชาชน ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบด้วย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หน่วยทันตกรรม หน่วยแพทย์แผนไทย และ หน่วยให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ โดยมีประชาชนในพื้นที่ตำบลหนองแสง และตำบลใกล้เคียงเข้ารับบริการ

 

โรงพยาบาลมหาสารคาม ประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 9/2565

โรงพยาบาลมหาสารคาม ประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 9/2565
(20-09-2565) ที่ห้องประชุมตักสิลา ชั้น 4 อาคารผู้ป่วยนอก นายแพทย์ภาคภูมิ นโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 9/2565 เพื่อติดตามผลการดำเนินงานในรอบเดือนที่ผ่านมา โดยมีคณะกรรมการบริหารร่วมประชุมรับฟังพร้อมนำนโยบายที่ได้รับถ่ายทอด นำสู่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนางานด้านการให้บริการและด้านต่าง ๆ ของโรงพยาบาลมหาสารคาม
ทั้งนี้ ก่อนการประชุม ได้มีพิธีการแสดงความยินดีแก่บุคลากรที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ และได้รับรางวัลนำเสนอผลงานวิชาการ อันได้แก่
1. นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รุ่น 12 ได้รับมอบรางวัล “ศิษย์เก่าดีเด่นด้านบริหาร” ประจำปี 2564 จากสมาคม ศิษย์เก่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูศิษย์เก่าที่เป็นแบบอย่างที่ดี มีผลงานโดดเด่นในด้านต่างๆ ณ โรงแรมพลูแมน ขอนแก่นราชาออคิต จ.ขอนแก่น วันที่ 9 กันยายน 2565
2. โรงพยาบาลมหาสารคาม ได้มอบใบประกาศเกียรติบัตร เพื่อแสดงว่า หออภิบาลผู้ป่วยหัวใจ (CCU) เป็นหน่วยงานที่ได้รับคำชื่นชมจากผู้รับบริการที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลมหาสารคาม ในวันที่ 29 สิงหาคม 2565
3. นางสาวณัฐจิรา อัปปะมะโน ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 การประกวดผลงานประเภทภาพเล่าเรื่อง (Photo Voice) ประเด็นการนำเสนอ การดำเนินงานควบคุมและเฝ้าระวังโรค COVID-19 ชื่อภาพ ทางออก คือทางรอด ของสังคม เร่งค้นหา รักษาให้ทัน ในการประชุมวิชาการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 จากชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ในวันที่ 7 – 9 กันยายน 2565
4. นายวัชรินทร์ ทองสีเหลือง ได้รับรางวัล ชนะเลิศอันดับ 1 การนำเสนอ Poster Presentation Award 2022 ในการประชุมวิชาการนานาชาติ สาธารณสุขภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ครั้งที่ 12 วันที่ 2-3 กันยายน 2565
5. นางนิตยา ฤทธิ์ศรี ได้รับรางวัลผลงานวิชาการ R2R ดีเด่น ประจำปี 2564 ในงานมหกรรมการจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 และโครงการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2565 จากกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 16 กันยายน 2565
6. นางสาวสุคนธ์ทิพย์ ปัตติทานัง ได้รับรางวัลชนะเลิศ การนำเสนอผลงานวิชาการ แบบ Poster Presentation กลุ่ม COVID 1 เรื่อง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ สำนักงานสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการประชุมสามัญและประชุมวิชาการ ประจำปี 2565 “พลังพยาบาลไทยช่วยชาติ ก้าวข้ามภัย COVID-19 สู่วิถี New Normal” วันที่ 4 – 5 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิวอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
7. นางศิริมา ไชยมูล ได้รับรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น สาขา อาหาร ยา และการคุ้มครองผู้บริโภค ประเภทการนำเสนอด้วยวาจา Oral Presentation เรื่อง การประยุกต์ใช้ยาเม็ดรับประทานในการพัฒนาสูตรตำรับยาเตรียมเฉพาะคราว ครีมทาช่องคลอดคอนจูเกทเอสโตรเจน ระดับประเทศ ประจำปี 2565 ในมหกรรมการจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด-19 และโครงการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 14-16 กันยายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองศิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี ม.สงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
8. นางสาวพจนีย์ ขูลีลัง ได้รับรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น สาขาการพยาบาล ประเภทการนำเสนอด้วยวาจา Oral Presentation เรื่อง การพัฒนารูปแบบการวางแผนจำหน่ายแบบบูรณาการในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ระดับประเทศ ประจำปี 2565 ในมหกรรมการจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด-19 และโครงการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 14-16 กันยายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองศิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี ม.สงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
9. นายวัชรินทร์ ทองสีเหลือง ได้รับรางวัล ผลงานวิจัยดีเด่นกระทรวงสาธารณสุข สาขา บริหารสาธารณสุข นโยบายสาธารณสุข สาธารณสุขทั่วไป เศรษฐกิจสุขภาพ ระดับประเทศ ประจำปี 2565 ในมหกรรมการจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด-19 และโครงการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 14-16 กันยายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองศิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี ม.สงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
10 งานมหกรรมประกวดวิชาการโรงพยาบาลมหาสารคาม ปี 2565
10.1 รางวัลผลงานวิชาการ ประเภท วิจัย/R2R
รางวัลที่ 1 นายอดิศักดิ์ ถมอุดทา กลุ่มงานการแพทย์แผนไทย เรื่อง “การวิจัยและพัฒนาตำรับอิมัลชันเจชลจากสารสกัดพริกและไพร”
(รางวัลที่ 2-3 รางวัลชมเชย 2 รางวัล Popular vote 1 รางวัล)
10.2 รางวัลผลงานวิชาการ ประเภท CQI
รางวัลที่ 1 นางสาวณัฐกานต์ ปวงสุข หอผู้ป่วยเฉพาะโรค เรื่อง “การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการเกิดปอดอักเสบจาการใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา-2019”
(รางวัลที่ 2-3 รางวัลชมเชย 2 รางวัล Popular vote 1 รางวัล)
10.3 รางวัลผลงานวิชาการ ประเภท นวัตกรรม
รางวัลที่ 1 นายวุฒิชัย โพธิ์สน หอผู้ป่วยเฉพาะโรค เรื่อง “การพัฒนานวัตกรรม Safety Wheel : หมุนปุ๊บ รู้ปั๊บ เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หอผู้ป่วยเฉพาะโรค โรงพยาบาลมหาสารคาม”(รางวัลที่ 2-3 รางวัลชมเชย 2 รางวัล Popular vote 1 รางวัล)
10.4 รางวัลผลงานวิชาการ ประเภท เรื่องเล่า
รางวัลที่ 1 นางสาวเจนจิรา เกิดน้อย งานผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เรื่อง “พยาบาลคนสุดท้าย”(รางวัลที่ 2-3 รางวัลชมเชย 2 รางวัล Popular vote 1 รางวัล)
10.5 รางวัลผลงานวิชาการ ประเภท Research and Innovation Implementation รางวัลที่ 1 นางปริญา ถมอุดทา งานคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มงานเวชกรรมสังคม เรื่อง “พัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการอาหารปลอดภัยและเมืองสมุนไพรเพื่อสุขภาวะประชาชนอำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม” (รางวัลที่ 2-3 รางวัลชมเชย 2 รางวัล Popular vote 1 รางวัล)

รพ.มหาสารคาม ผ่านการประเมินคุณภาพการพยาบาลในโรงพยาบาล จากกองการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข

รพ.มหาสารคาม ผ่านการประเมินคุณภาพการพยาบาลในโรงพยาบาล จากกองการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข

(3-8-2565)  นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม   พร้อมด้วยนางคนึงนิจ  ศรีษะโคตร  รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลมหาสารคาม  และคณะบุคลากร ร่วมรับฟังสรุปการประเมินคุณภาพการพยาบาลในโรงพยาบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาลนำสู่ความเป็นเลิศทางการพยาบาล โดย ดร.กนกพร แจ่มสมบูรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองการพยาบาล หัวหน้าคณะผู้เยี่ยมประเมินคุณภาพการพยาบาลในโรงพยาบาล กองการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ ด้วยกองการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้มีการตรวจประเมินประกันคุณภาพการพยาบาลในโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 1- 3 สิงหาคม 2565 ณ โรงพยาบาลมหาสารคาม เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ของหน่วยงานบริการพยาบาลในกลุ่มภารกิจด้านการพยาบาล ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาล ให้ได้ผลเป็นเชิงประจักษ์ และส่งผลต่อการบริการคุณภาพแก่ประชาชน ซึ่งจากตลอดระยะเวลาที่คณะผู้เยี่ยมประเมินคุณภาพการพยาบาล ฯ ได้สำรวจและประเมิน ผลปรากฏว่า โรงพยาบาลมหาสารคาม สามารถมีคะแนนผ่านการประเมิน NQA Class

นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม   ขอแสดงความยินดี กับฝ่ายการพยาบาล หัวหน้ากลุ่มการพยาบาล และพยาบาลทุกท่าน ในการรับการประเมินคุณภาพการพยาบาลในโรงพยาบาล และผ่านการประเมิน และเตรียมรับโล่รางวัล Nursing Quality Assessment Class ( NQA Class )  จากกองการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ในระหว่างวันที่ 17 – 19 สิงหาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช พัทยา จ.ชลบุรี