รพ.มหาสารคาม จัดรณรงค์วันการได้ยินโลก World Hearing Day  2020 “ไปให้สุด อย่าหยุดเพียงแค่ไม่ได้ยิน”

รพ.มหาสารคาม จัดรณรงค์วันการได้ยินโลก World Hearing Day  2020 “ไปให้สุด อย่าหยุดเพียงแค่ไม่ได้ยิน” ตรวจการได้ยินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ป้องกันและรักษาปัญหาทางการได้ยินหรือทำให้ประสาทหูเสื่อม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองสามัคคี เครือข่ายโรงพยาบาลมหาสารคาม  นายแพทย์ภาคภูมิ  มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์วันการได้ยินโลก World Hearing Day  2020 “ไปให้สุด อย่าหยุดเพียงแค่ไม่ได้ยิน” เพื่อให้บริการประชาชนที่มีปัญหาด้านการได้ยินในเขตชุมชนเมืองมหาสารคาม และลดความแออัดในการให้บริการที่ห้องตรวจหู คอ จมูก ในโรงพยาบาลมหาสารคาม ซึ่งจะทำให้ประชาชนในชุมชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากยิ่งขึ้น  โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การตรวจคัดกรองทาง หู คอ จมูก ,ตรวจการได้ยิน ,การให้ความรู้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  ให้บริการประชาชนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย การจัดนิทรรศการ และการถาม ตอบปัญหาต่าง ๆ โดยมีประชาชนและผู้สูงอายุ ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนกว่า 120 คน

นายแพทย์ภาคภูมิ  มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม  เปิดเผยว่า วันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันการได้ยินโลก ซึ่งปัญหาการสูญการได้ยินเป็นปัญหาสำคัญ ด้านสาธารณสุข ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกช่วงวัย นานาประเทศร่วมกันรณรงค์ เรื่องการฟังอย่างปลอดภัย (Make listening safe) ในประเทศที่กำลังพัฒนามีจำนวนผู้ป่วยที่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยมีผู้ป่วยและผู้พิการทางการได้ยินสูงเป็นอันดับสองของผู้พิการทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศไทยที่เข้าสู่ภาวะผู้สูงวัย ทำให้อัตราผู้ที่มีปัญหาการได้ยินสูงมากขึ้น ส่งผลกระทบในทุก ๆ ด้าน เช่น การได้ยิน การสื่อสาร การแยกตัวออกจากสังคม ซึมเศร้า โรคหลงลืม และสมองเสื่อม  มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

ในเด็กทารกที่มีปัญหาการได้ยิน จะกระทบพัฒนาการด้านภาษา การสื่อสาร การเรียนรู้ การเข้าสู่สังคม และขาดโอกาสต่างๆในชีวิต  ในวัยรุ่นและวัยทำงานที่อยู่ในสถานที่มีเสียงดังมาก การฟังเพลง การเล่นเกมส์ โดยใช้หูฟังนานส่งผลให้เกิดการสูญเสียการได้ยินจากเสียงที่ดัง .ในส่วนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถได้ยินได้ชัด อาจนำมาซึ่งปัญหาการสื่อสารกับบุคคลรอบข้าง เพื่อนฝูง และบุคคลในครอบครัว ผู้สูงอายุบางราย อาจปลีกตัว หลีกเลี่ยงการออกไปพบปะเพื่อนฝูง เพราะการพบปะผู้คนภายนอก จะทำให้ปัญหาการสื่อสารทวีความรุนแรงขึ้นมากได้

สำหรับประเทศไทยมีประชาชนเป็นโรคประสาทหูเสื่อมถึงร้อยละ 15 (ประมาณ ๙ล้านคน) นับเป็นปัญหาใหญ่ในการแก้ไขฟื้นฟูความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งใช้งบประมาณสูงมาก  ดังนั้นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ดูแลสุขภาพ ป้องกันการสูญเสียการได้ยิน และการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี ชะลอการเกิดโรคประสาทหูเสื่อม และเร่งฟื้นฟูการได้ยิน  ให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพเป็นปกติสุขต่อไป

ด้านแพทย์หญิง ญาณพันธุ์ ถายา  หัวหน้ากลุ่มงาน โสต ศอ นาสิก  กล่าวว่า ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมรอบด้าน มีเสียงดังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่เกิดจากการทำงาน หรือเสียงจากสิ่งแวดล้อมในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เสียงเครื่องจักรกล เสียงรถวิ่ง เสียงจากงานรื่นเริงต่างๆ เป็นต้น การได้ยินเสียงดังๆในระยะเวลานานๆ มีผลทำให้มีปัญหาทางการได้ยินหรือทำให้ประสาทหูเสื่อมได้ ซึ่งจากผลดำเนินการห้องตรวจหู คอ จมูก โรงพยาบาลมหาสารคาม ย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่ายอดผู้รับบริการที่มีปัญหาด้านการได้ยิน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  ดังนี้ ปี 2560 จำนวน 2,101 ราย ปี 2561 จำนวน 2,258  ราย ปี 2562 จำนวน 2,318  ราย

ดังนั้น กลุ่มงานโสต ศอ นาสิก จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการได้ยิน จึงได้จัดทำโครงการขึ้น โดยผู้รับบริการในกิจกรรมครั้งนี้ จะได้รับการตรวจรักษาจากโสต ศอ นาสิก แพทย์ จำนวน 100 คน ในจำนวนนี้หากประสาทหูเสื่อมเข้าเกณฑ์ผู้พิการ จะได้ใบรับรองความพิการและได้เครื่องช่วยฟัง นับว่าเป็นภารกิจที่สำคัญและต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที จากแพทย์ผู่เชี่ยวชาญด้านหูและการได้ยิน เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามมากขึ้นไป

มูลนิธิกาญจนบารมี ร่วมกับ สสจ.มหาสารคาม คัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ฟรี

มูลนิธิกาญจนบารมี ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

ที่หอประชุม วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม นายพงษ์พันธ์  แสงสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ประธานในพิธีโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ เพื่อให้ประชาชนชาวจังหวัดมหาสารคาม ที่มีภาวะเสี่ยงได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่แบบประสิทธิภาพสูง แม่นยำ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยมีผู้เข้าร่วมในพิธีประกอบด้วย  ผู้บริหารระดับจังหวัดมหาสารคาม  หัวหน้าส่วนราชการภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้อง อาสาสมัครสาธารณสุขและประชาชน จำนวน 350 คน

 

โดยมูลนิธิกาญจนบารมี ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข นำรถเคลื่อนที่ 1 ขบวน ประกอบด้วย รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่  รถนิทรรศการ  และให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม รถตรวจ และสอนการตรวจเต้านมโดยแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และรถเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่แบบประสิทธิภาพสูง ออกมาดำเนินการในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ระหว่างวันที่ 2-6 มีนาคม 2563

นายแพทย์ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายสูงเป็นอันดับ 1 ของคนไทยต่อเนื่องมานานกว่า 13 ปี ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรุนแรงมากขึ้น และเสียชีวิตกว่า 60,000 คนต่อปี  สถิติการป่วยด้วยโรคมะเร็งจังหวัดมหาสารคาม 5 อันดับแรก ปี 2558-2562 พบว่า อัตราป่วยสูงสุด คือ  มะเร็งเต้านม รองลงมาคือ มะเร็งท่อน้ำดี ลำไส้ ปอด และปากมดลูก ตามลำดับ ทั้งนี้จังหวัดมหาสารคาม  ได้มีการดำเนินงานควบคุม ป้องกันโรคมะเร็ง  มาอย่างต่อเนื่อง  และถือเป็นโยบายสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกัน อย่างเข้มข้นจริงจัง โดยดำเนินการคัดกรองแยกกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย และแยกระดับความรุนแรงของโรค เพื่อการรักษาที่ได้คุณภาพมากขึ้น  มีกระบวนการลดความรุนแรงของระยะโรค พัฒนาบุคลากรเพื่อดูแล  กลุ่มป่วย พัฒนาระบบข้อมูลให้เป็นปัจจุบันน่าเชื่อถือมาโดยตลอด

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม กล่าวเพิ่มเติมว่า เราสามารถป้องกันมะเร็งเต้านมได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม สำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงระดับปกติทุกคน ควรเริ่มจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ  และควรตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์เต้านมในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือผู้ที่ต้องการตรวจคัดกรองอย่างละเอียด เช่น อายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อพบสิ่งผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที

มหาสารคาม – ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 7  2563/1

(27-2-2562) ที่ห้องประชุมตักสิลา ชั้น 4 อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาสารคาม แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์  ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 พร้อมด้วยนายแพทย์อุดม ภู่วโรดม สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 7  เดินทางเข้าตรวจราชการและนิเทศงานกรณีปกติ รอบที่ 1/2563 เพื่อตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานด้านสาธารณสุขของจังหวัดมหาสารคาม โดยมีนายแพทย์ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม  นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมด้วยผู้รับผิดชอบงานในแต่ละสาขาเข้าร่วมรับฟังผลสรุปการตรวจราชการ ข้อเสนอแนะ ชี้แจงและข้อมูลผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดด้านต่าง ๆ

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าเยี่ยมผู้ป่วยประกันสังคม ที่โรงพยาบาลมหาสารคาม

(27-2-2563)  นายแพทย์ประเสริฐ   ศรีสารคาม รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ  ร่วมต้อนรับ รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในโอกาสเดินทางมาตรวจเยี่ยมส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัด   และเข้าเยี่ยมผู้ป่วยประกันสังคม ที่โรงพยาบาลมหาสารคาม เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ประกันตน

 

รพ.มหาสารคาม เปิด “คลินิกกัญชาทางการแพทย์”

รพ.มหาสารคาม เปิด “คลินิกกัญชาทางการแพทย์” ให้บริการคำปรึกษา-ตรวจ-รักษา ด้วยสารสกัดกัญชา โดยแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่ผ่านการอบรมจากกระทรวงสาธารณสุข

 

ที่อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาสารคาม แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 เป็นประธานในพิธีเปิด “คลินิกกัญชาทางการแพทย์ โรงพยาบาลมหาสารคาม” บริการให้คำปรึกษา ตรวจและรักษาด้วยตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชาอย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและใกล้เคียงเข้าถึงการรักษาด้วยกัญชาเพิ่มมากขึ้น โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม  และแพทย์ พยาบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนกว่า 80 คน

พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายให้โรงพยาบาลจัดให้มีบริการกัญชาทางการแพทย์ โดยผสมผสานแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย รักษาตามข้อบ่งชี้การใช้กัญชาทางการแพทย์ในสองกลุ่ม คือ 1.ในกลุ่มโรคที่ได้ประโยชน์ในการรักษา อันประกอบด้วย ๕ โรค ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปวดประสาทจากระบบประสาทส่วนกลางที่ดื้อต่อยารักษา และ 2.การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในกลุ่มโรคที่น่าจะได้ประโยชน์ในการรักษา เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง  ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โรคพาร์กินสัน เป็นต้น ซึ่งการใช้สารสกัดกัญชาในผู้ป่วยกลุ่มโรคดังกล่าว จะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์และสหวิชาชีพที่ผ่านการอบรมมาแล้วจากกระทรวงสาธารณสุข

 

ด้าน นพ.ภาคภูมิ  มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวว่า รพ.มหาสารคาม ได้เล็งเห็นความสำคัญของการให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการใช้กัญชาทางการแพทย์ ที่กำลังให้ความสนใจจากผู้ป่วย จึงได้เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ รพ.มหาสารคาม ขึ้น โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทีมบุคลากรสหวิชาชีพที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์ คอยบริการให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำและตรวจรักษา  ตามเกณฑ์ข้อบ่งชี้การใช้กัญชาทางการแพทย์  โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ นอกจากนี้ รพ.มหาสารคาม ยังบูรณาการให้บริการกัญชาทางการแพทย์แผนไทยตามข้อบ่งชี้การใช้สารสกัดกัญชา ที่ผสมผสานกับยาตำรับสุขไสยาสน์ และตำรับทำลายพระสุเมรุให้แก่ผู้ป่วย เช่น ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหาร เครียด นอนไม่หลับ ริดสีดวงทวารหนัก สะเก็ดเงิน เป็นต้น  โดยผู้ป่วยและประชาชนที่สนใจสามารถเข้ารับบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ รพ.มหาสารคาม ได้ทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 08.00 น.- 12.00 น.

 

สำหรับ รพ.มหาสารคามเป็น 1 ใน 71 โรงพยาบาล ที่ดำเนินงานด้านการใช้กัญชาทางการแพทย์ในสถานบริการสุขภาพ และมีความพร้อมในการจัดตั้งคลินิกกัญชาทางการแพทย์ โดยการให้บริการจะใช้รูปแบบผสมผสานแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย  ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคว่ามีความจำเป็นต้องได้รับสารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์  ตามข้อบ่งชี้การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงบริการให้คำปรึกษา และความรู้เกี่ยวกับการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ จากทีมแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

รพ.มหาสารคาม รวมพลังจิตอาสา Big Cleaning Week จิตอาสาสู้โคโรนาไวรัส

(14-2-2563) นายแพทย์ประเสริฐ ศรีสารคาม รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมคณะบุคลากร จัดกิจกรรม รวมพลังจิตอาสา Big Cleaning Week จิตอาสาสู้โคโรนาไวรัส พร้อมรณรงค์สวมหน้ากากอนามัย ใส่ใจการล้างมือ หยุดยั้งเชื้อไวรัสโคโรนาและโรคติดต่อชนิดอื่น ๆ” โดยนำผ้าชุบน้ำยาทำความสะอาดและแอลกอฮอล์ เช็ดบริเวณประตู ราวจับ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจตกค้าง สร้างความมั่นใจในการเข้ามารับบริการรักษา ภายในลิฟท์ และบริเวณหน้าห้องผ่าตัด ชั้น 3 อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน 11 ชั้น โรงพยาบาลมหาสารคาม

ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการสร้างความรู้ในการทำความสะอาดอย่างถูกวิธี สร้างสุขอนามัยให้กับผู้ปฏิบัติการและผู้ใช้บริการ
พร้อมรณรงค์ทั่วประเทศ เพื่อมุ่งเน้นพื้นที่เสี่ยง ที่มีชุมชนใช้บริการจำนวนมาก และต่อเนื่อง
โดยกำหนดให้มีการจัดกิจกรรมทุกวันศุกร์ของสัปดาห์

 

รพ.มหาสารคาม ร่วมออกร้านมัจฉากาชาด ให้บริการประชาชนเสี่ยงโชคจับรางวัล ในงานบุญเบิกฟ้าและงานกาชาด จ.มหาสารคาม ประจำปี 2563

(1-2-2563)  นางรัตนาภรณ์ ยนต์ตระกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ด้านลูกค้าสัมพันธ์ และกิจกรรมพิเศษ โรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมด้วยคณะบุคลากร ร่วมออกร้านมัจฉากาชาด ให้บริการประชาชนเสี่ยงโชคจับรางวัล ในงานบุญเบิกฟ้าและงานกาชาด จังหวัดมหาสารคาม ประจำปี 2563 ทั้งนี้เหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม กำหนดจัดกิจกรรมร่วมกับ จังหวัด 2 กิจกรรม ได้แก่ การจำหน่ายสลากกาชาดสมนาคุณ และการออกร้านมัจฉากาชาดจังหวัดมหาสารคาม โดยทั้ง 2 กิจกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ไว้ใช้จ่ายตามพันธกิจของเหล่ากาชาดจังหวัด เช่น การบรรเทาทุกข์ผู้ประสบสาธารณภัย การส่งเสริมสุขภาพอนามัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิต การสังคมสงเคราะห์ราษฎรที่ประสบความทุกข์ยาก

 

 

 

รพ.มหาสารคาม จัดกิจกรรมจิตอาสา รณรงค์ร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา 2019

นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมจิตอาสา รณรงค์ร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา 2019  เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนและผู้มารับบริการสุขภาพภายในโรงพยาบาลตระหนักและเห็นความสำคัญของการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ณ บริเวณที่จอดรถพยาบาล หน้าอาคารสูติกรรม โรงพยาบาลมหาสารคาม  โดยมีผู้เข้าร่วมรณรงค์ ประกอบด้วย คณะกรรมการบริการ  และบุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ในโรงพยาบาลมหาสารคาม รวมจำนวนกว่า 100 คน

นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม  เปิดเผยว่า  เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา coronavirus (2019-nCoV) ที่มีแหล่งเริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งขณะนี้มีประชาชนติดเชื้อและมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต  และพบว่ามีผู้ป่วยหรือผู้ได้รับเชื้อได้เดินทางเข้ามาประเทศไทย  ดังนั้นโรงพยาบาลจึงร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ หวังสร้างความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา และวิธีการปฏิบัติตัวหากเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจให้แก่ประชาชน

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การให้ความรู้เรื่องโรคไวรัสโคโรนา การกินร้อน ช้อนกลาง สาธิตการป้องกันตนเอง ด้วยการล้างมือ 7 ขั้นตอน และการสวมหน้ากากอนามัย การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การแจกหน้ากากอนามัย แจกแผ่นพับความรู้และการทำความสะอาดด้วยกิจกรรม 5 ส.ในโรงพยาบาลมหาสารคาม

รพ.มหาสารคาม ปั้นผู้ช่วยแพทย์แผนไทย หลักสูตร 372 ชั่วโมง

รพ.มหาสารคาม ปั้นผู้ช่วยแพทย์แผนไทย หลักสูตร 372 ชั่วโมง เสริมบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่ได้มาตรฐาน ตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

(27-1-2563) ที่ห้องประชุมกามินทร์อาศรม ชั้น 2 โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 372 ชั่วโมง สังกัดโรงพยาบาลมหาสารคาม เพื่อเพิ่มบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตามนโยบายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) และยุทธศาสตร์ที่ 3 บุคลากรเป็นเลิศ (People Excellence) โดยพัฒนาระบบบริหารจัดการกำลังคน ให้มีสมรรถนะสูง สอดคล้องกับภารกิจขับเคลื่อนงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความปลอดภัยและเชื่อมั่นต่อผู้รับบริการตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง

สำหรับโครงการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 372 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนอบรม กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนที่สนใจและมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการอบรม จำนวน 20 คน ซึ่งทั้งหมดจะได้เข้าอบรม การนวด การประคบสมุนไพร การอบไอน้ำสมุนไพร การทับหม้อเกลือ และยาสมุนไพร เป็นต้น ในระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 2 เมษายน 2563 โดยแบ่งเป็นภาคการบรรยาย ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 10 มีนาคม 2563 ฝึกภาคสนามระหว่างวันที่ 11 มีนาคม – 2 เมษายน 2563 และนำเสนอกรณีศึกษาวันที่ 23 – 24 มีนาคม 2563

ด้าน นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน เพื่อสอดรับกับความต้องการด้านบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นโรงพยาบาลมหาสารคาม โดยกลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้จัดทำโครงการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 372 ชั่วโมงนี้ขึ้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนอบรม ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้รับการฝึกทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากผู้เชี่ยวชาญจาก ศูนย์ฝึกอบรมด้านการแพทย์แผนไทยเขตสุขภาพที่ ๗ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม และทีมวิทยากรจากกลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รพ.มหาสารคาม

เมื่อผู้เข้าอบรมทั้ง 20 คน ผ่านการอบรมครบตามหลักสูตร จะได้รับใบประกาศนียบัตรผู้ผ่านการอบรม และสามารถเข้ามาปฏิบัติงานด้านการแพทย์แผนไทย ในตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์แผนไทย ซึ่งสามารถให้บริการประชาชนได้ตามกฎหมาย รวมถึงสามารถปฏิบัติในหน่วยบริการสาธารณสุขในตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์แผนไทย รวมทั้งได้มีส่วนในการพัฒนาวิชาชีพการแพทย์แผนไทยอีกด้วย

รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานในจังหวัดมหาสารคาม

(23-1-2563) นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาสารคาม ร่วมต้อนรับ นายแพทย์สรรพงษ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และคณะตรวจประเมินและดำเนินการประกวดพื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติด้านแพทย์แผนไทยการแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมที่จังหวัดมหาสารคาม โดยมีนายแพทย์ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม  พร้อมด้วยผู้รับผิดชอบงาน กล่าวรายงานผลการดำเนินงาน จากนั้นได้เดินทางไปที่ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ผสมผสาน เครือข่ายโรงพยาบาลมหาสารคาม เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน