สธน.เขต 7  เยี่ยมชมการบริการสุขภาพประชาชนรูปแบบ  “การแพทย์วิถีใหม่” รพ.มหาสารคาม

สาธารณสุขนิเทศ เขตสุขภาพที่ 7 เยี่ยมชมการบริการสุขภาพประชาชนรูปแบบ  “การแพทย์วิถีใหม่” หรือ New Normal of medical Service  เพื่อลดแออัด ป้องกันการระบาดโควิด-19 ของโรงพยาบาลมหาสารคาม

(01-06-63) นายแพทย์ภาคภูมิ  มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม  พร้อมคณะกรรมการบริหาร ร่วมต้อนรับ นายแพทย์อุดม ภู่วโรดม สาธารณสุขนิเทศ เขตสุขภาพที่ 7 นายชาลี เอี่ยมมา ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ในโอกาสเดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลมหาสารคาม ที่มีการจัดบริการ “การแพทย์วิถีใหม่” หรือ New Normal of medical Service โดยมีเป้าหมายใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ความปลอดภัย ซึ่งแยกเป็น 3 ส่วน คือ การปรับโครงสร้างใหม่ ปรับระบบการทำงานใหม่ และคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากร 2.การลดความแออัด โดยจัดกลุ่มประเภทผู้ป่วยให้ชัดเจน จัดบริการให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม และใช้เทคโนโลยีร่วมด้วย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตจะทำให้ 3.ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงและยกระดับคุณภาพของบริการทางการแพทย์

 

จากนั้น นพ.อุดม ภู่วโรดม สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 7 กระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ ตรวจราชการ ได้เดินทางไปเยี่ยมห้องแยกโรคความดันลบ Airborne  Infection  Isolation  Room และห้องปฏิบัติทางการแพทย์ ซึ่งมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเชื้อโรคติดต่อโรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ เพื่อบริการประชาชนที่มีความเสี่ยงในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและพื้นที่ใกล้เคียง

กลุ่มศิษย์เก่าโรงพยาบาลมหาสารคาม  มอบเครื่องกำจัดเชื้อโรคและสารพิษในอากาศ WELLIS

(29-5-2563 )  นายแพทย์สุดชาย เลยวานิชย์เจริญ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมหาสารคาม  รับมอบมอบเครื่องกำจัดเชื้อโรคและสารพิษในอากาศ WELLIS จำนวน 4 เครื่องพร้อมน้ำยา 26 ชุด มูลค่า 84,200บาท  จากกลุ่มศิษย์เก่าโรงพยาบาลมหาสารคาม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลมหาสารคาม

โควิด-19

หุงข้าวซ้อมมือหอมมะลิวิถีธรรม แจกบุคลากร รพ.มหาสารคาม

มูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย และภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดมหาสารคาม หุงข้าวซ้อมมือหอมมะลิวิถีธรรม แจกบุคลากรโรงพยาบาลมหาสารคาม เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ในช่วยการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โควิด-19

ที่กลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลมหาสารคาม แพทย์หญิงธนพร มุทาพร รองผู้อำนวยการฝ่ายจริยธรรม โรงพยาบาลมหาสารคามเป็นประธานในการแจกข้าวซ้อมมือหอมมะลิวิถีธรรม ซึ่งหุงสุก สดใหม่ แจกให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ตามโครงการแบ่งปันด้วยหัวใจบริสุทธิ์ ซึ่งข้าวทั้งหมดได้รับสนับสนุน จากมูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย โดยประธานมูลนิธิ ดร. ใจเพชร กล้าจน หมอเขียว สำหรับข้าวซ้อมมือหอมมะลิ ที่หุงในวันนี้ได้แจกให้บุคคลากรภายในโรงพยาบาลหลายหน่วยงาน อาทิ หน่วยงานจ่ายกลาง กลุ่มการพยาบาลชุมชน หอผู้ป่วยอายุกรรมทองดีชั้น 4 และชั้น 5 รวมกว่า 200 คน ซึ่งบุคลากรทั้งหมดต่างนำอุปกรณ์ ภาชนะจาน ชาม ถ้วย หม้อมาใส่ข้าวหุงเอง โดยไม่มีการนำถุงพลาสติกมาใส่หรือห่อกลับไป ถือเป็นการช่วยลดประมาณขยะ ประหยัดพลังงาน ลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

นางอรณต วัฒนะหัวหน้ากลุ่มงานสุขศึกษา ผู้ประสานงานจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า โครงการนี้หวังจุดประกายให้เกิดกระแสความเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือ และแบ่งปันสุขแบ่งเบาทุกข์ด้วยใจบริสุทธิ์ โดยการหุงข้าวเพื่อนำมาแจกได้รับความร่วมมือจาก รองนายสถานีวิทยุ อสมท. จังหวัดมหาสารคาม และจะจับมือกับเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ด้าน แพทย์หญิงธนพร มุทาพร รองผู้อำนวยการฝ่ายจริยธรรม โรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวว่า ขอขอบคุณน้ำใจจากทุกภาคส่วนที่ได้นำข้าวหุงสุกมาแจกแก่บุคคลากรโรงพยาบาล ถือกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และเป็นการส่งเสริมให้บริโภคข้าวปลอดภัย ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาด ในนานบุคลากรโรงพยาบาลบมหาสารคามขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน มีความสุขกาย สบายใจ เป็นอยู่ผาสุขตลอดไป

ตระกูลภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม  บริจาค ชุด PPE 136 ชุด

(26-5-2563)  นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมด้วยคณะบุคลากร ร่วมรับมอบ ชุดป้องกันเชื้อ หรือ Personal Protective Equipment Suit (PPE Suit) จำนวน 136 ชุด  จากตระกูลภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม   ซึ่งมีจิตอันเป็นกุศลสนับสนุนในการดำเนินงานของโรงพยาบาลมหาสารคาม

ร่วมทำข้าวผัดวิถีธรรม แบ่งปันด้วยใจบริสุทธ์แก่พี่น้องประชาชน 30 ชุมชน

(22-5-2563) แพทย์หญิงจรัญญา จุฬารี รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลมหาสารคาม ร่วมทำข้าวผัดวิถีธรรม แบ่งปันด้วยใจบริสุทธ์แก่พี่น้องประชาชน แจกจ่ายพี่น้องประชาชนใน 30 ชุมชนเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม

ที่วัดธัญญาวาส ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม แพทย์หญิงจรัญญา จุฬารี รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลมหาสารคาม ร่วมกิจกรรมทำข้าวผัดวิถีธรรม แบ่งปันด้วยใจบริสุทธ์แก่พี่น้องประชาชน จำนวน 1500 ห่อ โดยนำไปมอบให้พี่น้องประชาชนใน 30 ชุมชน และประชาชนที่รักษ์สุขภาพ ได้รับประทานอาหารสด สะอาด ปลอดภัย และมีประโยชน์ ถือเป็นการส่งกำลังใจแก่กันในช่วงที่กำลังประสบภัยโควิด-19

โดยมีนางวริฐา จันทรา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม นางปรียา ศรประสิทธิ์ รองนายกเหล่ากาชาด สมาชิกเหล่ากาชาด สมาชิกแม่บ้านมหาดไทย ชมรมผู้สูงอายุตักสิลานคร ประธานชุมชน ประธาน อสม.จาก 30 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม จำนวนกว่า 90 คน มาร่วมกิจกรรมทำข้าวผัดธัญพืชในครั้งนี้กันอย่างคึกคัก ทั้งนี้วัตถุดิบที่สำคัญ คือ ข้าวหอมมะลิวิถีธรรม ปลอดสารพิษ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิแพทย์วถีธรรมแห่งประเทศไทยจำนวน 100 กิโลกรัม และธัญพืขจากการสนับสนุนของผู้มีจิตศรัทธาจำนวน 60 กิโลกรัม

ด้านแพทย์หญิงจรัญญา จุฬารี รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวว่า ข้าวผัดธัญพืช ถือเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่ใช้ผลิคภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ไม่ใส่ผงชูรส ปรุงเพียงดอกเกลิอเท่านั้น ซึ่งเป็นเมนูชูสุขภาพที่ให้ทั้งสารอาหารและพลังงานแก่ร่างกาย อีกทั้ง ธัญพืชที่นำมาเป็นส่วนประกอบขัาวผัด ได้ซื้อจากเกษตกรในพื้นที่ของจังหวัดมหาสารคาม ที่ปลูกด้วยเกษตรอินทรีย์ ถือเป็นการอุดหนุนคนในชุมชนอีกด้วย

ขณะที่พระครูสารกิจ ประยุกต์ รองเจ้าคณะอำเภอเมืองมหาสารคาม เจ้าอาวาสวัดธัญญาวาส กล่าวว่า การจัดกิจกรรมจิตอาสา ทำอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แบ่งปันพี่น้องประชาชนด้วยใจบริสุทธิ์ ถือเป็นการทำบุญต่อเพื่อนมนุษย์ ต้องขอบคูณทีมแม่ครัวจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมจากจังหวัดกาฬสินธิ์และมหาสารคาม รวมทั้งทุกท่านที่ช่วยลงแรง และบริจาคงบประมาณให้โครงการสำเร็จด้วยดี ขอให้ทุกท่านที่มีส่วนร่วม มีสุขภาพแข็งแรง เบากาย สบายใจ มีกำลัง มีชีวิตอยู่อย่างผาสุขตลอดไป

 

คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม มอบตู้ฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC แก่โรงพยาบาลมหาสารคาม

(18-5-2563)  นายแพทย์ประเสริฐ ศรีสารคาม รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ โรงพยาบาลมหาสารคาม  รับมอบตู้ฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC  ซึ่งเป็นงานประดิษฐ์ที่ออกแบบและสร้างร่วมกับศิษย์เก่าของคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิวดล กัญญาคำ คณบดีและบุคลากร เป็นผู้แทนมอบในครั้งนี้  เพื่อให้เป็นไปตามพันธกิจหลักด้านการให้บริการทางวิชาการกับชุมชนและท้องถิ่น ตู้ฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC นี้ ได้ออกแบบเพื่อฆ่าเชื้อโรคสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์เช่น หน้ากากอนามัย เป็นต้น โดยมีจุดเด่นคือ สามารถฆ่าเชื้อได้ภายใน 5 นาทีด้วยค่าความเข้มแสง UVC เฉลี่ย 0.528 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร (อ้างอิงจากการทดลองของ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) สามารถตั้งเวลาการทำงานได้  และมีสัญญาณเตือนเมื่อทำงานเสร็จ  ควบคุมด้วยมือถือผ่านสัญญาณ Wi-Fi แสดงค่าอุณหภูมิ และความชื้น  ปลอดภัยเพราะไม่มีแสง UVC ผ่านออกมานอกตู้  โครงสร้างทำจากวัสดุอะคริลิก น้ำหนักเบา และสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก

 

วัดป่าศรีสว่างพัฒนา  ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและการกีฬา มมส.  บริจาคน้ำดื่มพระพุทธมนต์  165 แพ็ค

(18-5-2563)  นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม  รับมอบน้ำดื่มพระพุทธมนต์  จำนวน 165 แพ็ค  โดยวัดป่าศรีสว่างพัฒนา ต.หนองจิก อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและการกีฬา คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ซึ่งมีอาจารย์ ดร.อาภรณ์   โพธิ์ภา  หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและการกีฬา  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม   พร้อมด้วยคณาจารย์  ร่วมเป็นผู้แทนมอบในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและเป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรโรงพยาบาลมหาสารคาม

 

รพ.มหาสารคาม ซ้อมแผนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19  เข้าห้องผ่าตัด

(12-5-2563)  หน่วยงานห้องผ่าตัด ศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วย โรงพยาบาลมหาสารคาม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันฝึกซ้อมแผนกรณีเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยได้จำลองเหตุการณ์ เคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่กำลังคลอดและมีภาวะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากห้อง Airborne Infection Isolation Room หรือ ห้องแยกโรคติดเชื้อความดันลบ ไปยังห้องผ่าตัด โดยใช้ชุดเต็นท์แคปซูลความดันลบ  เพื่อให้​เจ้าหน้าที่มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์​​ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และร่วมกันหาแนวทางการปฏิบัติ ให้เกิดความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจแก่ผู้มารับบริการ

 

 

 

คุณเรืองชัย ผแดนนอก มอบตู้ความดันลบสำหรับครอบเตียง  (Negative Pressure Cabinet)

(12-5-2563)  นายแพทย์ประเสริฐ  ศรีสารคาม รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ โรงพยาลบาลมหาสารคาม  รับมอบมอบตู้ความดันลบสำหรับครอบเตียง  (Negative Pressure Cabinet) จำนวน 1 ชุด มูลค่า 40,000 บาท  จากคุณเรืองชัย ผแดนนอก  PERFECT GROUP (THAILAND) CO,LTD )เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้แก่โรงพยาบาลมหาสารคาม

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชุดกระจก ระบบสื่อสารทางไกลระหว่างแพทย์และคนไข้ ให้แก่โรงพยาบาลมหาสารคาม

วันนี้ (7 พฤษภาคม 2563) เวลา 09.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชุดกระจก (Quarantine Tele – presence System) ระบบสื่อสารทางไกลระหว่างแพทย์และคนไข้ จำนวน 1 ชุด ประกอบด้วย เครื่องสื่อสารควบคุมรวมสำหรับแพทย์ (Doctor Monitor) จำนวน 1 เครื่อง , และเครื่องสื่อสารของผู้ป่วย (Patient Monitor) จำนวน 2 เครื่อง พัฒนาโดยโครงการ CU-RoboCovid เพื่อให้โรงพยาบาลมหาสารคาม ไว้ใช้ประโยชน์แก่โรงพยาบาล ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยมี นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมด้วย รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล รับมอบต่อเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ห้องประชุม ตักสิลาชั้น 4 อาคารผู้ป่วยนอก

ในการนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทาน ชุด”กระจก” (Quarantine Tele-presence System) ระบบสื่อสารทางไกลระหว่างแพทย์และคนไข้ ในโครงการ CU-RoboCovid ให้ทางโรงพยาบาล 73 แห่งทั่วประเทศไทย เพื่อใช้ประโยชน์แก่โรงพยาบาล ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

สำหรับ“น้องกระจก” หรือ Telepresence ผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์สู้ภัยโควิด-19 เสมือนกระจกที่แสดงภาพและเสียงบุคคลในการสื่อสารกันคุณหมอและพยาบาลสามารถติดต่อสื่อสารและสังเกตอาการของผู้ป่วยได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปใกล้ผู้ป่วยในหอผู้ป่วย ลดอัตราการเสี่ยงติดเชื้อ จากการต้องเข้าไปในหอผู้ป่วยเป็นระยะเวลานาน ๆ หรือมากเกินไป ลดจำนวนอุปกรณ์การแพทย์บางส่วน ในการเข้าไปให้บริการคนไข้ในแต่ละโซน จะต้องทำการเปลี่ยนชุด PPE และอุปกรณ์อื่น ๆ จำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ “น้องกระจก” จึงช่วยประหยัดทรัพยากรและ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้มีเวลาในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น บ่อยขึ้น และช่วยลดความกังวลของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยลง